วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา : พระไตรปิฎก

                                                          พระไตรปิฎก


พระไตรปิฎก คือคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของพระศาสดา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือว่าเป็นคัมภีร์สูงสุดในพระพุทธศาสนา  โดย คำว่าพระไตรปิฎก มาจากภาษาบาลีคือ ติปิฏก แปลว่า ตะกร้าสามใบ หรือคำสอนสามหมวด (ติ หมายถึง สาม ปิฏก หมายถึง ตำรา คัมภีร์ หรือกระจาด) แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎก คือ
๑. พระวินัยปิฎก  หรือ พระวินัย ได้แก่ประมวลระเบียบข้อบังคับของบรรพชิตที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุและภิกษุณี ๒. พระสุตตันตปิฎก หรือ พระสูตร ได้แก่ประมวลพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยังที่ต่างๆ ให้เหมาะกับบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ มีเรื่องราวประกอบ ๓. พระอภิธรรมปิฎก หรือ พระอภิธรรม ได้แก่ประมวลคำสอนที่เป็นหลักวิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่มีเรื่องราวประกอบ
             โดยเนื้อความทั้งหมดของพระไตรปิฎกจัดแบ่งเป็นหมวด ๆ หรือ ขันธ์ มีจำนวน ๘๔, ๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์   ซึ่งในการจัด พิมพ์ฉบับพิมพ์ภาษาไทยนิยมจัดแยกเป็น ๔๕ เล่ม หมายถึงระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งพุทธกิจ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม พระอภิธรรมปิฎก

พระวินัยปิฎก ว่าคือหมวดประมวลพุทธบัญญัติที่ว่าด้วยวินัย หรือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิธีดำเนินการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์  โดยแบ่งเป็นสองส่วนคืออาทิพรหมจริยกาสิกขา และ อภิสมาจาริกาสิกขา
อาทิพรหมจริยกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อป้องกันความประพฤติ ที่เสียหายและวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดโดยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง และให้พระสงฆ์สวดทุกกึ่งเดือน เรียกว่า พระปาติโมกข์
อภิสมาจาริกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทและความเป็นอยู่ที่ดีงาม เพื่อชักนำให้พระสงฆ์มีความประพฤติ ความเป็นอยู่ดีงาม มีคุณค่า น่าเลื่อมใส น่าศรัทธา

พระสุตตันตปิฎก  คือประมวลพุทธพจน์ ที่ว่าด้วยพระธรรมเทศนา หรือธรรมบรรยาย ต่างๆ ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เหมาะสมแก่บุคคล เหตุการณ์  ในโอกาส เวลาและสถานที่ต่างกัน   โดยเป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง ในรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงธรรมเทศนาของ พระสาวก และพระสาวิกาที่กล่าวตามแนวพระพุทธพจน์ในบริบทต่างๆ ด้วย
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระสูตรทั้งหลายในที่ต่างๆกัน เนื่องในโอกาส ๔ ประการ คือ
        
๑. อัตตัชฌาสยะ    แสดงขึ้นโดยอัธยาศัยของพระพุทธเจ้าเอง
        
๒. ปรัชฌาสยะ    แสดงขึ้นโดยตามอัธยาศัยของผู้อื่น
        
๓. ปุจฉาวสิกะ     แสดงขึ้นจากการทูลถาม
        
๔. อัตถุปัตติกะ    แสดงขึ้นโดยปรารภจากเหตุที่เกิดขึ้น

       พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ 
ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ

๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ
๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น