ศาสนพิธี
ศาสนพิธีต่าง ๆ
ช่วยทำให้ความศรัทธาต่อพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เป็นสิ่งตอกย้ำใจให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยได้อย่างดีเยี่ยมจึงเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงามที่ควรรักษาไว้คู่กับพระพุทธศาสนาตลอดไป ในพระพุทธศาสนาแบ่งศาสนาพิธีออกเป็น ๔
หมวดใหญ่ ๆ ดังนี้
๑. กุศลพิธี
เป็นพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนา เช่น
การรักษาศีล เป็นต้น
๒. บุญพิธี เป็นพิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป
มีบุญมงคลและอวมงคล เช่น บุญขึ้นบ้านใหม่
บุญหน้าศพ เป็นต้น
๓. ทานพิธี
เป็นพิธีถวายทานต่างๆ เช่น
ถวายสังฆทาน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค
เป็นต้น
๔.
ปกิณกะพิธี เป็นพิธีเบ็ดเตล็ด
ได้แก่การอาราธนาศีล การประเคนของพระ เป็นต้น
ในที่นี้จะนำมาเฉพาะพิธีที่สำคัญ
ๆ อันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวพุทธเสมอ ๆ ดังต่อไปนี้
1. การตักบาตร คือการนำข้าวและอาหารคาวหวานใส่บาตรพระหรือสามเณร โดยอาจทำประจำวันในท้องถิ่นชุมชนที่มีพระสงฆ์และสามเณรออกบิณฑบาต
จะทำในวันเกิดของตนหรือวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งวัน ๘ ค่ำ และ ๑๔,๑๕ ค่ำ เป็นต้น
เบื้องต้นของการตักบาตร
ต้องเตรียมใจให้ผ่องใสเป็นกุศล เปี่ยมด้วยความเต็มใจบุญจะได้บังเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มคิด
ขณะทำก็อย่านึกเสียดาย ให้มีสุขใจ
หลังจากให้ไปแล้วก็มีความปลื้มปีติยินดีในทานนั้น อย่านึกเสียดายเป็นอันขาด
บุญกุศลจึงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการเตรียมของตักบาตร เช่นข้าวสารอาหารแห้งหรืออาหารคาว
ถ้าของสดพึงระวังอย่าให้ข้าวและอาหารนั้น ๆ ร้อนหรือเย็นจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดความลำบากแก่พระสงฆ์หรือสามเณร
ที่ต้องอุ้มบาตรต่อไปในระยะทางไกล ของที่ใส่บาตรนั้นนิยมปฏิบัติเป็นธรรมเนียมว่า
ให้ยกขึ้นจบ (ยกขึ้นสูงระดับหน้าผาก ด้วยท่าประนมมือโดยอนุโลม) แล้วนิมนต์พระภิกษุหรือสามเณรว่า
นิมนต์ครับ/นิมนต์ค่ะ
เมื่อท่านเดินผ่านมาในระยะใกล้ แล้วใส่ของลงไปในบาตร กล่าวคำถวายทานว่า
สุทินนัง วะตะ
เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุฯ
แปลว่า
ทานที่ข้าพเจ้าให้แล้วด้วยดี ขอจิตของข้าพเจ้านี้จงสิ้นอาสวะกิเลสเถิด
เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วนิยมทำการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญแก่ผู้อื่นอันเป็นที่รักด้วย
ช่วยทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ เป็นสุขให้แก่ผู้ปฏิบัติ
2. พิธีถวายสังฆทาน คือการถวายวัตถุที่ควรเป็นทานแก่สงฆ์
มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
หากถวายเจาะจงเฉพาะรูป เรียกว่า
"ปาฏิบุคลิกทาน"
ไม่ต้องมีพิธีกรรมอะไรในการถวาย ส่วนสังฆทานนั้นเป็นการถวายกลาง ๆ ให้สงฆ์เฉลี่ยกันใช้สอย
จึงมีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะการถวายและการอนุโมทนาของสงฆ์
สังฆทานมีแบบแผนมาแต่ครั้งพุทธกาล
ผู้รับจะเป็นภิกษุหรือสามเณร หรือ พระสังฆเถระหรือพระอันดับชนิดไร ๆ
เมื่อสงฆ์จัดไปให้ ผู้ถวายต้องตั้งใจต่อพระอริยสงฆ์ คือ อุทิศถวายเป็นสงฆ์จริง ๆผู้รับรับในนามของสงฆ์เป็นส่วนรวม
จึงเป็นการถวายสังฆทานด้วยใจที่เป็นกุศล
อิ่มเอิบเบิกบานในการถวายทานวัตถุที่ถวายจะมากน้อยอย่างไรตามแต่สมควร ประกอบด้วยภัตตาหารและบริวารของใช้ที่เหมาะแก่สมณะบริโภค
ถวายกี่รูปก็ได้แล้วแต่ศรัทธา
จะถวายที่วัดหรือสถานที่อื่น ๆ เช่น ที่บ้านหรือสถานที่ประกอบพิธีก็ได้
การถวายสังฆทานนั้น
เริ่มด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (ถ้ามี)
แล้วอาราธนาศีล และสมาทานศีลจากนั้นผู้ถวายทานประนมมือ ตั้งนะโม ๓
จบแล้วกล่าวคำถวายสังฆทาน เสร็จแล้วประเคนทานวัตถุแด่พระภิกษุสงฆ์
หลังจากประเคนถวายพระสงฆ์แล้ว
เมื่อพระสงฆ์ผู้นำสวดอนุโมทนาด้วยบท “ยะถา วาริวหา....” ผู้ถวายทานเริ่มกรวดน้ำ
จนถึงบทที่พระสงฆ์ผู้นำสวดถึง “.....มณิโชติ รโส ยะถา” ก็ให้หยุดกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรพระต่อไปจนจบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น